อังคณา นีละไพจิตร:ถ้ารัฐเชื่อว่าทำถูก ก็ต้องพร้อมให้ตรวจสอบ
วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2008 15:29น.
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนำกำลังหลายร้อยนายบุกเข้าตรวจค้นปอเนาะดาลอ หรือสถาบันสมบูรณ์ศาสน์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ก่อนเปิดฉากใช้อาวุธจนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และถูกจับอีก 3 คนนั้น ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรกในดินแดนแห่งนี้
เพราะย้อนกลับไปแค่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็เพิ่งเกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายคลึงกันที่ปอเนาะบ้านยือนือเร๊ะ หมู่ 1 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส มาแล้ว โดยครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ถูกจับ 7 คน
เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงว่า ผู้เสียชีวิตและถูกจับเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบที่หลบเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในปอเนาะ จึงต้องนำกำลังเข้าจัดการ แต่ครูปอเนาะ นักเรียน และชาวบ้านต่างมองว่ารัฐใช้ความรุนแรงจนเกินกว่าเหตุ
ที่สำคัญปอเนาะคือสถาบันการศึกษาที่ยืดโยงกับศรัทธาของศาสนาอิสลาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งในความรู้สึกของพี่น้องมุสลิม!
“สถาบันอิศรา” ฟังทัศนะจาก อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเกาะติดกับปัญหาการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชายแดนใต้มาหลายปี…
ได้ติดตามกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปอเนาะบ้างหรือไม่ ซึ่งล่าสุดมี 2 กรณี คือที่ปอเนาะดาลอ กับปอเนาะบ้านยือนือเร๊ะ ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพจะแสดงท่าทีเรื่องนี้อย่างไร?
คณะทำงานฯให้ความสนใจกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ปอเนาะทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุการณ์มีความคล้ายคลึงและส่งผลกระทบต่อสังคมหลายประการ เช่นเดียวกับที่ได้เคยเกิดขึ้นที่ปอเนาะบ้านควนหรัน (อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา) ปอเนาะตาเซะ (อ.เมือง จ.ยะลา) และโรงเรียนอิสลามบูรพา (ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างสูง
คณะทำงานได้ส่งอาสาสมัครลงไปในพื้นที่ จ.นราธิวาส ตั้งแต่วันเกิดเหตุความรุนแรงที่ปอเนาะบ้านยือนือเร๊ะและปอเนาะดาลอ พร้อมได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดเผยข้อเท็จจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ที่มีข่าวการเสียชีวิตของบุคคลที่อยู่ในปอเนาะทั้งสองแห่งนั้น เป็นเพราะเกิดจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่
พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์จะต้องเปิดเผยผลการตรวจสอบเขม่าดินปืนที่มือของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ว่าผู้เสียชีวิตได้ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่จริง เพราะหากไม่ปรากฏเขม่าดินปืน ย่อมแสดงว่าผู้ที่เสียชีวิตมิได้ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อน
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งรัดการสอบสวน และส่งเรื่องให้มีการไต่สวนการตายโดยไม่ชักช้า เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมด
O การเข้าไปตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัยในปอเนาะ ควรมีแนวปฏิบัติอย่างไร เพราะทางฝ่ายความมั่นคงก็อ้างเหตุผลเรื่องยุทธวิธี และฝ่ายตรงข้ามมีอาวุธ จึงอาจต้องใช้ความรุนแรงและความเข้มงวดกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์บ้าง แม้จะเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม?
ได้เคยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนกับฝ่ายความมั่นคง กรณีที่จะต้องมีการปิดล้อมตรวจค้นศาสนสถานและโรงเรียนสอนศาสนาต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรับปากว่าจะแจ้งให้ผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนได้รับทราบก่อน รวมทั้งจะอนุญาตให้ผู้นำศาสนาและเจ้าของสถานที่ได้อยู่ร่วมระหว่างการตรวจค้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้
แต่เท่าที่ติดตามดูในระยะหลังๆ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะการสับเปลี่ยนกองกำลังบ่อยมากหรือไม่ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงละเลยข้อตกลงที่เคยให้ไว้กับประชาชน
ในความเป็นจริง ยุทธศาสตร์การติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำ เพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ แต่เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลัก “นิติธรรม” อย่างเคร่งครัด และต้องเข้าใจถึงขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีด้วย เพราะเป็นเรื่องเปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความหวาดระแวง รวมทั้งสร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในหมู่ประชาชนมากขึ้นไปอีก
O แน่นอนว่าความรู้สึกของคนในพื้นที่ย่อมไม่ดีหลังเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ คิดว่าจะมีแนวทางแก้ไขเยียวยาอย่างไร สิ่งที่รัฐทำคือไปเปิดเวทีทำความเข้าใจที่ปอเนาะดาลอ และรับซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายให้ เพียงพอหรือไม่?
ส่วนตัวมองว่าทุกครั้งที่มีเหตุการณ์เช่นนี้ รัฐจะใช้นโยบาย “ตบหัวแล้วลูบหลัง” มาตลอด ไม่เคยมีการสรุปบทเรียนหรือพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดอย่างแท้จริง
การชดใช้ค่าเสียหายเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำอยู่แล้ว แต่การเยียวยาที่สำคัญคือการเยียวยาด้วยความยุติธรรม นั่นคือการเปิดเผยความจริง เช่น กรณีของผู้เสียชีวิต ต้องให้ศาลไต่สวนการตายโดยเร็วว่าเป็นผู้เสียชีวิตที่ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ วิธีการในการปฏิบัติถ้ารุนแรงเกินกว่าเหตุ เจ้าหน้าที่ต้องยอมรับผิด และขอโทษประชาชนผู้บริสุทธิ์
ภาพที่ปรากฏตามสื่อเห็นเด็กนักเรียนชายถอดเสื้อ นุ่งผ้าโสร่งผืนเดียว และเห็นชัดเจนว่าไม่มีอาวุธ แต่ยังถูกมัดมือไพล่หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้น เป็นภาพที่ทำให้เกิดความเศร้าสลดแก่ผู้พบเห็นและผู้รักความเป็นธรรม จึงเป็นภาพที่ไม่ควรปรากฏอีกต่อไป
ที่สำคัญต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดจะต้องไม่ได้รับการยกเว้น ต้องไม่เลือกปฏิบัติ และต้องให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
การปิดล้อมตรวจค้นโรงเรียนและศาสนาสถานทุกครั้งสร้างความเจ็บช้ำให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและไม่ให้เกียรติ รวมทั้งไม่ค่อยเคารพสถานที่มาโดยตลอด จึงอาจเป็นสาเหตุให้ผู้กระทำความผิดพยายามเข้าไปหลบซ่อนตัวในสถานที่ดังกล่าวมากขึ้นในระยะหลัง ซึ่งถ้าฝ่ายความมั่นคงยังคงใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนท้องถิ่นแล้ว อาจขยายความไม่เชื่อมั่นศรัทธาในอำนาจรัฐมากยิ่งขึ้น และยังเป็นสาเหตุของความรู้สึกเกลียดชังด้วย
O การเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับนักสิทธิมนุษยชนมีสูงขึ้นในระยะหลัง จากบทบาทของนักสิทธิมนุษยชนที่พยายามตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในทุกๆ เรื่อง ประเด็นนี้ส่งผลกับการทำงานบ้างหรือไม่ และได้เพิ่มความระมัดระวังของตัวเองและทีมงานอย่างไร เพราะล่าสุดก็เพิ่งมีกรณีการส่งหนังสือเตือนและเชิญให้บรรดานักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในพื้นที่ไปพบแบบไม่ค่อยจะโปร่งใสนัก
โดยส่วนตัวและทุกคนในคณะทำงานฯยังคงทำงานอยู่โดยเชื่อมั่นในความถูกต้องในทุกสิ่งที่ได้กระทำ ยังไม่เคยได้รับหนังสือเตือนให้ยุติการทำงานแต่อย่างใด เพียงแต่เจ้าหน้าที่พยายามแทรกแซงการทำงานโดยอ้างความปลอดภัยในการลงพื้นที่ เช่น ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ และต้องมีเจ้าหน้าที่ไปด้วย ซึ่งจะทำให้นักสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับข้อมูลจากผู้เสียหายโดยตรง และผู้เสียหายก็จะไม่กล้าที่จะบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ได้
ประสบการณ์ส่วนตัวพบว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการละมิดสิทธิมนุษยชนสูงมากจริงๆ การซ้อมทรมานยังคงเกิดขึ้น เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่ให้ความไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ น่าเสียใจที่รัฐไม่เคยตระหนักถึงความผิดพลาดเหล่านี้ ทั้งที่นักสิทธิมนุษยชนทุกคนหวังดีและพยายามส่งสัญญาณเตือนมาโดยตลอด
ถ้าฝ่ายความมั่นคงเชื่อมั่นในการปฏิบัติว่าได้กระทำทุกอย่างถูกต้องตามหลัก “นิติธรรม” ก็ต้องพร้อมให้มีการตรวจสอบ ต้องยอมรับว่ากฎหมายให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐ นอกจากรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังมีกติกาสากลด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง และสามารถให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองไทยทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน
ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นและความจริงจากทุกฝ่ายจึงมีความจำเป็น ต้องยอมรับความจริงที่ว่า “กฎหมายพิเศษ” ที่ใช้อยู่ (กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่มาก แต่ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติมักไม่รู้กฎหมาย จึงใช้อำนาจมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หลายครั้งจึงเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยที่ไม่เคยมีการแก้ไขและไม่มีการยอมรับผิด
และที่สำคัญที่สุดคือการเยียวยาโดยการทดแทนด้วยทรัพย์สินเงินทองไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะกับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
No comments yet.
-
Archives
- November 2010 (2)
- October 2010 (4)
- September 2010 (5)
- August 2010 (4)
- July 2010 (10)
- June 2010 (3)
- April 2010 (13)
- March 2010 (9)
- February 2010 (16)
- January 2010 (4)
- December 2009 (20)
- November 2009 (7)
-
Categories
-
RSS
Entries RSS
Comments RSS
Leave a Reply